Header Ads

test

ธนาคารใหญ่ๆในประเทศไทย.... ต่อไปคงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง

ธนาคารต่างๆในประเทศไทย

         สถาบันทางการเงินที่ใหญ่ๆ ในบ้านเรา ตอนนี้ มี 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีสินทรัพย์เกิน 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนแบงก์อื่นๆนอกนั้นมีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งสิ้น
        แต่..ไม่ว่าจะใหญ่จะเล็ก ก็มีความเหมือนกัน คือมีความลำบากมากขึ้นในการทำกำไรเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง ประกอบกับผู้คนมีความรู้และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินในแบงก์เพื่อรอกินดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว
        ณ จุดๆ นี้ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพการแข่งขันระหว่างแบงก์ต่างๆ อย่างดุเดือด ทั้งด้านการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ไปจนถึงการลดหรือฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือมีการออกผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงกิจกรรมฝาก ถอน โอน ฯลฯ อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่าทุกอย่างทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว แน่นอนว่านับต่อจากนี้ การพัฒนาจะมากันอีกเป็นระลอก และแน่นอนการปรับลดพนักงาน ลดจำนวนสาขา ก็จะมาอีกเป็นระลอกเช่นกัน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและปรับตัว
        จากปัญหาการแข่งขันที่สูง และผลตอบแทนของภาคธนาคารที่ลดลงนี่เอง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายๆ ธนาคาร อาจต้องควบรวมกิจการกัน ล่าสุด ดีลการควบรวมกันระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมานานตั้งแต่ต้นปี 2561 ตอนนี้ก็มีท่าทีชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เร็ว ๆ นี้ จะมีการเซ็นต์ MOU เกี่ยวกับดีลนี้
และหลังควบรวมกิจการ ‘ธนาคารธนชาต’ จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ธนาคารทหารไทย’ ซึ่งตอนนี้ได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว เหลือรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยผู้ถือหุ้นของทั้งสองธนาคาร คือ ธนาคาร ING Bank N.V. ที่ถือหุ้นในทหารไทย 25.018% รองจากกระทรวงการคลัง และผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ ธนาคารธนชาต ที่มีต่างชาติ คือ Scotia Netherlands Holding B.V. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 48.99% ต้องมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันด้วย ไม่ใช่เพียงเป็นการคุยกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารธนชาตแล้วดีลนี้จบ
        ในรายงานยังระบุ ด้วยว่า กระบวนการควบรวมต่อจากนี้นั้น ฝ่ายบริหารของธนาคาร 2 แห่ง จะต้องวางแผนรวมกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การควบรวมสาขา , ปรับปรุงหน่วยงานบริการและอื่น ๆ เป็นต้น คาดว่า อาจใช้เวลาดำเนินการราว 3-6 เดือนและหากปิดดีลระหว่าง TMB และธนาคารธนชาตได้ จะทำให้ธนาคารใหม่ที่เกิดจากการควบรวมครั้งนี้มีสินทรัพย์รวมประมาณ 1.87 ล้านล้านบาท มีเงินฝากรวม 1.37 ล้านล้านบาทและสินเชื่อรวมราว 1.33 ล้านล้านบาทกันเลยทีเดียว
        เมื่อการควบรวมกิจการนำไปสู่ฐานเงินทุนที่ใหญ่ขึ้น และสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันได้ทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น ดังนั้น เราคงเห็นการแข่งขันของภาคการธนาคารที่ดุเดือดเพิ่มขึ้น ดีลการควบรวมกิจการก็น่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกในอนาคต ต่อไปธนาคารใหญ่ๆในประเทศไทย.... อาจจะเหลือเพียงไม่กี่แห่งก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น